บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

นักวิชาการมักจะฉลาด

ในบทความนี้ ผมจะเขียนถึงมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับศรัทธา ความเชื่อ ความงมงายและ ความจริงในความเห็นของนักวิชาการต่างๆ

นักวิชาการต่างๆ เหล่านั้น หลายๆ ท่านใช้คำชุดดังกล่าวในความหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวข้องกันเลย

แต่ผมจะชี้ให้เห็นว่า ความหมายของคำทั้ง 4 คำดังกล่าวในทุกวันนี้ มีความหมายที่ซ้อนทับกันอยู่อย่างสลับซับซ้อน

บางคนบางท่านอาจจะเริ่มต้นสงสัยตามแบบของมนุษย์ที่มีแนวโน้มไปในทางฉลาดว่า ทำไมจะต้องเป็นความเห็นของนักวิชาการด้วย  เป็นพ่อค้าแม่ขาย สามล้อ คนขายหวย หรือมอเตอร์ไซค์ปากซอยบ้างไม่ได้หรือไง

ก่อนอื่นต้องขออธิบายว่า ทำไมการสงสัยจึงเป็นคุณสมบัติของคนฉลาด

ความรู้อันนี้ก็มาจากประสบการณ์ การอ่านหนังสือ และการเรียนรู้  คนที่ชอบสงสัยมักจะเป็นคนฉลาดเสมอ

นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาที่ดังๆ ทั้งหลาย สามารถคิดค้นความรู้ใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ ได้ ก็เป็นพวก ลูกอีช่างสงสัยทั้งนั้น สงสัยไปทุกเรื่องทุกราว สงสัยจนน่ารำคาญในบางที

เมื่อสงสัยแล้วก็ต้องคิดค้นเพื่อแก้ข้อสงสัย การกระทำเหล่านั้นเป็นลักษณะของคนฉลาด

คนที่ชอบสงสัยแต่เป็นคนโง่ ก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ไม่มากนัก เพราะ ธรรมชาติของพวกคนโง่นั้น  พวกนี้มักไม่ค่อยสงสัยอะไร

ใครพูดอะไรหรือชักชวนให้ทำอะไร ถ้าคนพูดมีการแต่งตัวที่ดี เช่น ใส่สูท ผูกเน็กไท เป็นต้น หรือเป็นคนที่น่านับถือ เช่น พวกสมัคร ส.ส. หรือเป็นพระภิกษุ เป็นต้น

กลุ่มบุคคลพวกนี้ก็จะเชื่อโดยไม่ตั้งข้อสงสัยอะไรเลย

พวกนี้จึงถูกหลอกอยู่เป็นประจำ ถูกหลอกซ้ำ หลอกซ้อน จนเขาขึ้นไปอยู่บนหัว เป็นวัว เป็นควายก็ยังไม่รู้ตัว

เมื่อเข้าใจความแตกต่างระหว่างคนโง่กับคนฉลาดแล้ว ก็ต้องมาอธิบายต่อว่า ทำไมต้องเป็นนักวิชาการด้วย

อันนี้ก็ต้องขอตอบว่า  การมาถกเถียงกันด้วยเรื่องต่างๆ เพราะ ความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง ตรงกันบ้าง มันเป็นปกติวิสัยของนักวิชาการ

พวกพ่อค้าแม่ขายเขาไม่ค่อยมาสนใจในเรื่องนี้  ถ้าจะถกเถียงกัน พวกพ่อค้าแม่ขายก็จะถกเถียงกันเรื่องทำมาหากิน เรื่องพระเอก นางเอก นางโกงของละครน้ำเน่า อะไรทำนองนั้นเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการก็มีหลายระดับ มีตั้งแต่ระดับที่ร่องของมันสมองตื้นมากๆ แบบลายของลูกฟุตบอล พวกนี้ ก็ดีกว่าคนโง่นิดเดียว  บางทีพิจารณาไม่ออกเหมือนกันว่า ไอ้หมอนี่มันโง่หรือมันฉลาดกันแน่

การกระทำที่ดูเหมือนจะออกมาในแนวทางฉลาด คือ มีการมาถกเถียงกันคล้ายๆ นักวิชาการ แต่คำพูดหรือข้อเขียนนี่มันแสดงความโง่ชัดๆ

อยากจะเห็นตัวอย่าง ก็ไปหาอ่านได้ในศาสนาคาเฟ่ ในเว็บไซต์ของประเทศไทยนี้แหละ ก็จะมีบุคคลจำพวกนี้ ออกมาแสดงความคิดเห็นอยู่เป็นจำนวนมาก

ประมาณร้อยละ 90 ของคนที่มาออกความคิดเห็นก็แล้วกัน

สำหรับนักวิชาการที่มีระดับของร่องสมองลึกๆ ที่แสดงว่าเป็นคนฉลาด พวกนี้พิจารณาได้ว่า มักจะมีการค้นคว้าหาสิ่งอ้างอิง การถกเถียงหรือข้อเขียนก็มีความเป็นเหตุผล (Rationality)

มีหลักมีเกณฑ์ มีความคิดเป็นของตนเอง นี่ก็ชี้ให้เห็นว่า บุคคลเหล่านี้ น่าจะเป็นนักวิชาการที่มีความฉลาด

ขอยกตัวอย่างอีกนิดหนึ่ง

เอาตัวอย่างในเว็บไซต์ของประเทศไทยอีกก็แล้วกัน

จะมีบางคนพยามยกพระสูตรหรืออรรถกถามาสนับสนุนความคิดเห็นของตน ยกมาอย่างยืดยาว ทำการเน้นสีอย่างดี  ถ้าใส่เสียงได้ก็คงจะมีการเน้นเสียงด้วย

แต่ไม่อธิบายเลยว่า ไอ้ที่ยกมานั้นมันสนับสนุนข้อเขียนของตนเองอย่างไร  ที่สำคัญก็คือ ไม่เคยมีการบอกว่า แนวคิดของตนเองเป็นอย่างไร 

พวกนี้มันเป็นพวก ลอกตะบัน ลอกแม้กระทั่งความคิด เรียนหนังสือจบมาได้ก็คงเป็นเพราะลอกเพื่อนนั่นแหละ

ในหลายๆ ครั้ง ข้อเขียนที่ยกมาเป็นหลักฐานที่อ่อนมาก เพราะ เป็นข้อความที่แต่งใส่เข้าไปภายหลัง 

ด้วยความโง่ของตนเองก็ไม่รู้ว่า ที่ยกมานั้นมีความเป็นมาอย่างไร ก็นำมาสนับสนุน บางครั้ง ไอ้ที่ยกมาก็ไม่ได้สนับสนุนการถกเถียงที่ดำเนินอยู่เลยก็มี

แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้ว คนที่ไปร่วมหัวจมท้ายอยู่ในเว็บดังกล่าว มันโง่ประมาณร้อยละ 90  โง่กับโง่เจอกันก็เลยไม่รู้ว่า กำลังเถียงกันด้วยเรื่องโง่ๆ ตามประสาคนโง่อยู่...




ความจริงน่ะ จริงของใคร

กลับมาเข้าเรื่องหลังจากอารัมภบทไปพอสมควรแล้ว

เอา ศรัทธา ก่อน คำนี้ค่อนข้างมีศักดิ์ศรีกว่าคำอื่นๆ ที่เหลือ และมักจะใช้กับศาสนา กล่าวคือ ถ้าใครนับถือศาสนาไหน ก็จะมีการใช้คำๆ นี้ในทำนองว่า คนนั้นเขาศรัทธาศาสนานี้

หรืออาจจะศรัทธาบุคคลก็ได้ ในกรณีที่บุคคลเหล่านั้นเป็นคนดี คนที่เคร่งศาสนามากๆ ก็จะได้รับคำยกย่องว่า มีศรัทธาสูงทำนองนี้

คำต่อมาก็คือ ความเชื่อ คำนี้ศักดิ์ของคำลดน้อยลงมา กลายเป็นความเชื่อในสิ่งทั่วๆ ไป เช่น เชื่อว่า คนนี้คนนั้นเป็นคนดี เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี้เหมาะสมกับประเทศไทยแล้ว

เชื่อว่า กกต. จะยุบพรรคชาติไทย กับพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นต้น

คำต่อมาก็คือ ความงมงาย ความงมงายนี่ ศักดิ์ศรีของคำต่ำสุดๆ มักจะใช้กับคนที่เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ต่างๆ หรือเชื่อเรื่องหมอดูอะไรทำนองนั้น

ถ้ามีต้นกล้วยออกปลีกลางต้น หรือหมูออกมา 8 ขาแล้วตาย ก็จะมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ไปจุดธูปจุดเทียนบูชาเพื่อขอหวย เป็นต้น

บุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นพวกงมงาย

เท่าที่อธิบายมาทั้งหมดนั้น  เป็นความหมายพื้นฐานโดยทั่วไปของ ศรัทธา ความเชื่อ และความงมงาย 

สำหรับ “ความจริง” จะอธิบายไว้ท้ายสุด  แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้  จะเห็นว่า การใช้คำต่างๆ เหล่านั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ถึงจะเหมาะสม เช่น ความเชื่อของผู้ปฏิบัติธรรมบางสายที่เชื่อว่า การปฏิบัติธรรมของตนเป็นวิปัสสนา เป็นต้น

สายปฏิบัติธรรมที่ว่านั้นก็คือ สายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูป  ทั้ง 2 สายปฏิบัติธรรมนี้ มีต้นกำเนิดมาจากพระพม่า  คือ พวกนี้ชอบของนอก  ของไทยมีอยู่ไม่สนใจ  ดูถูกด้วย หาว่าเป็นเพียงสมถะกรรมฐาน

ต้องของพระพม่าเท่านั้น ถึงจะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน

สายปฏิบัติธรรมทั้ง 2 สายนี้ จะชู "สติปัฏฐาน 4" เป็นธงนำชัย  ว่าเป็นหนทางสายเดียวที่จะพาพวกตนไปนิพพานได้  สายอื่นๆ ไม่ได้แอ้มว่ายังงั้น

สิ่งที่ควรจะสนใจ หรือควรจะสะกิดใจ และควรนำมาใคร่ครวญว่า สิ่งที่สายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูปศรัทธาและเชื่ออยู่นั้น  เป็นความจริงหรือไม่ มีอยู่อย่างน้อย 4 ประการ ที่จะยกตัวอย่างให้เห็น ณ ที่นี้ ดังนี้

1) วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง

กล่าวคือ “วิ” แปลว่า “แจ้ง”  “ปัสสนา” แปลว่า “เห็น”  แต่สายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูป นี่ปฏิเสธการเห็นทั้งหมด ว่าเป็นนิมิตลวง  ห้ามสานุศิษย์เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง

ถ้าเห็นอะไรก็ตามต้องพิจารณาเห็นหนอ เห็นหนอ แล้วให้การเห็นนั้นหายไป พูดง่ายๆ ว่า ไม่ให้เห็นอะไร

ก็ดังที่ผมกล่าวไปแล้วว่า วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง  การปฏิบัติธรรมแบบวิปัสสนาก็ต้องเห็น  แต่จะเห็นอะไรนั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ทางสายวิชาธรรมกายมีหลักสูตรทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานครบถ้วน  อธิบายไว้อย่างชัดแจ้ง  มีคนปฏิบัติตามได้เป็นจำนวนมาก

พวกยุบหนอพองหนอกับนาม-รูปยังมาโจมตีหาว่า “การเห็น” ของวิชาธรรมกายเป็นนิมิตลวง  เป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่มีหลักวิชาการเลย มีแต่หลักวิชากูทั้งนั้น 

ถ้าพวกยุบหนอพองหนอกับนาม-รูปต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์สายวิชาธรรมกายอย่างเป็นวิชาการ  ก็ต้องมาศึกษาให้ละเอียด  ไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้ แต่ต้องศึกษาให้รู้เขา รู้เราเสียก่อน

นี่ความรู้ของสายตัวเองก็ยังไม่มั่นคง  สายปฏิบัติธรรมอื่นๆ ก็ไม่ได้ศึกษาของเขา แต่ไปวิพากษ์วิจารณ์ของเขา  อย่างนี้มันก็กบในกะลาตัวเมียชัดๆ

ขออธิบายเพิ่มเติมประเด็นเกี่ยวกับ การเห็น ของวิชาธรรมกายนิดหนึ่ง เพื่อที่ว่า ผู้อ่านจะได้เข้าใจไปพร้อมๆ กัน

ถ้าถามว่า สายวิชาธรรมกายมีนิมิตลวงหรือไม่  ก็ตอบได้ว่า มีแต่เราจะรู้เลยว่า สิ่งเห็นขึ้นมาในขณะนั้นเป็นนิมิตลวง

ที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นเพราะว่า วิชาธรรมกายนั้น มีหลักสูตรกำหนดไว้ ต้องมี การเห็น เป็นหลัก เช่น ขั้นตอนนี้ต้องเห็นเป็นดวงใส ณ ศูนย์กลางกายของกายใด  ขั้นตอนนี้ต้องเห็นเป็นดวงสีดำ ที่ใด

วิชาธรรมกายเห็นดวงสีดำได้ ถ้าเราต้องการศึกษาเรื่องการตายของคน คนที่จะตายดวงตายจะมีสีดำสนิท

โดยสรุป

วิชาธรรมกายก็มีนิมิตลวง แต่เราจะรู้ทันทีที่เห็น เพราะ เป็นการเห็นภาพที่ไม่ตรงกับหลักสูตร  ก็จะมีวิธีการจัดการกับนิมิตลวงเหล่านั้น

ในประเด็นนี้ก็น่าเห็นใจกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมสายยุบหนอพองหนอ กับสายนาม-รูปเหมือนกัน เพราะ ครูบาอาจารย์สั่งสอนมาอย่างนั้น ก็ทำให้เสียโอกาสที่จะศึกษาสาสนาให้กว้างขวางออกไป...



สติปัฏฐานเป็นแค่อนุปัสนา

2) พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ 4 ไม่ได้ตรัสรู้สติปัฏฐาน 4

เป็นที่ยอมรับกันทั้งสายมหายาน ทั้งสายหินยาน โดยเฉพาะเถรวาทของของไทยเราว่า  สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะพาพุทธศาสนิกชนไปนิพพานได้ก็คือ อริยสัจ 4 

พระพุทธองค์ พระองค์ท่านตรัสรู้ อริยสัจ 4  แต่สายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูป กลับสอนว่า พิจารณาอิริยาบถใหญ่กับอิริยาบถย่อย  ทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นคำสอนในสติปัฏฐานสูตร ก็พอเพียงที่จะสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้  สมถะกรรมฐานก็ไม่ต้องทำ

มันจะเป็นไปได้ยังไง !!!!!!!   

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมากแห่งว่า  พระองค์บรรลุพระบรมสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยวิชชา 3 

ขอยกตัวอย่างที่แต่สั้นๆ  ในส่วนที่พระพุทธองค์ทรงบรรยายเหตุการณ์ที่พระองค์บรรลุวิชชาสุดท้ายของวิชชาสาม ก่อนที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณว่า

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ

ขออธิบายพระสูตรที่ยกมาเพิ่มเติม ดังนี้

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่บรรยายว่า พระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระอรหันต์ในวันเพ็ญเดือน 6 

ก่อนหน้าข้อความที่ยกมานั้น เป็นช่วงบรรยาย 2 วิชชาแรก ของวิชชา 3 คือ พระองค์ระลึกชาติของตนเอง และระลึกชาติของคนอื่นได้ คือ รู้ว่า คนอื่นนั้น จะเกิดเป็นอะไรต่อไปข้างหน้า  ก่อนหน้านี้เกิดเป็นอะไร

พระองค์ได้อธิบายว่า ต่อมาก็พิจารณาวิชชา 3 คือ อาสวักขยญาณ ต่อจากนั้นก็พิจารณาอริสัจ 4 คือข้อความที่ว่า เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ต่อการนั้นมาจึงดับอาสวะ ซึ่งก็คือกิเลสขั้นสูงสุดได้ มี 3 ประเภทคือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ผ่านขั้นตอนนี้ไป จึงเข้าขั้นพระโสดาบรรณ พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

จากพระสูตรที่ยกมานั้น สายยุบหนอพองหนอ กับสายนาม-รูป ต้องอธิบายให้ได้ว่า การปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหันต์ของตน  ทำไมจึงไม่เหมือนของพระพุทธเจ้า 

การพิจารณาอิริยาบถใหญ่กับอิริยาบถย่อย  ทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา จะทำให้สุดยอดของกิเลสคือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ หลุดไปได้อย่างไร

เท่าที่ศึกษามา ไม่มีคำอธิบายอย่างที่ว่านั้น จากเอกสารของทางสายยุบหนอพองหนอ และสายนาม-รูป

3) สติปัฏฐาน 4 เป็นอนุปัสนาไม่ได้เป็นวิปัสสนา

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า วิปัสสนา แปลว่า "เห็นแจ้ง"  ส่วน อนุปัสนา แปลว่า "ตามเห็น" หลักฐานที่ยืนยันว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นอนุปัสนา/ตามเห็นก็คือ คำศัพท์ 4 คำ ดังนี้

1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
4) ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

คำทั้ง 4 คำข้างต้น ประกอบด้วยรากศัพท์ ดังนี้

1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาจาก กาย + อนุ + ปัสสนา + สติ + ปัฏฐาน
2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาจาก เวทนา + อนุ + ปัสสนา + สติ + ปัฏฐาน
3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาจาก จิต + อนุ + ปัสสนา + สติ + ปัฏฐาน
4) ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาจาก ธรรม + อนุ + ปัสสนา + สติ + ปัฏฐาน

ทำให้ดูชัดๆ อีกทีก็ได้ ดังนี้

1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน = [กาย + อนุปัสนา + สติปัฏฐาน]
2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน = [เวทนา + อนุปัสนา + สติปัฏฐาน]
3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน = [จิต + อนุปัสนา + สติปัฏฐาน]
4) ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน = [ธรรม + อนุปัสนา + สติปัฏฐาน]

ความหมายของคำแต่ละคำ มีดังนี้

อนุ = พจนานุกรมฉบับล่าสุดให้ความหมายของคำว่า อนุไว้ว่า คำประกอบหน้าศัพท์บาลีหรือสันสกฤตมีความหมายว่า น้อย เช่น อนุทิศ = ทิศน้อย, ภายหลัง, รุ่นหลัง เช่น อนุชน = ชนรุ่นหลัง, ตาม เช่น อนุวัต = เป็นไปตาม, เนืองๆ เช่น อนุศาสน์  = สอนเนืองๆ คือ พร่ำสอน.
ปัสสนา = เห็น
สติ = สติ
ปัฏฐาน = ที่ตั้ง

ดังนั้น องค์ประกอบของสติปัฏฐาน 4 นั้น  ถ้าแปลกันในถูกต้องแล้ว ควรจะแปลดังนี้

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติอันตามเห็นซึ่งกาย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติอันตามเห็นซึ่งเวทนา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติอันตามเห็นซึ่งจิต
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติอันตามเห็นซึ่งธรรม

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นเพียง อนุปัสนา/ตามเห็น เท่านั้น ยังไม่ได้เป็น วิปัสสนา/เห็นแจ้ง  

สายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูปปฏิบัติธรรมแต่เพียงบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนที่น้อยมากของสติปัฏฐาน 4 เท่านั้น จะเป็นวิปัสสนาไปได้อย่างไร

ด้วยความไม่เชื่อว่า จักษุของศาสนาพุทธมี 5 ประเภท เป็นตาเนื้อเพียง 1 ประเภท ตาอีก 4 ประเภทที่เหลือเป็นตาภายใน  สาวกของสายพองยุบ-นามรูป พยามยามแปลองค์ประกอบหลักของสติปัฏฐาน 4 ไปในทำนองนี้

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม; เรียกสั้น ๆ ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม

แล้วก็ปฏิเสธการเห็น เหลือแค่ "พิจารณา" ก็คือ ใช้ความคิด/สังขารแต่เพียงอย่างเดียว แล้วจะเป็น วิปัสสนา/เห็นแจ้ง ได้อย่างไร เพราะ ญาณทัสสนะนั้น แปลว่า รู้เห็น  คือ พระพุทธเจ้า"เห็น" ด้วยตาภายในแล้วจึง "รู้"

ขอยกตัวอย่าง นิวรณสูตร สังยุตตนกาย มหาวารวรรค ซึ่งสานุศิษย์คนสำคัญของสายยุบหนอพองหนอเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ 5 เหล่านี้ กระทำให้มืด กระทำไม่ให้มีจักษุ กระทำไม่ให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ...

พระสูตรนี้ สานุศิษย์ของสายยุบหนอพองหนอเขียนไว้ในหนังสือของท่านเอง ผู้อ่านก็ลองพิจารณาดูที่ผมเน้นตัวหนาและทำเป็นสีน้ำเงินไว้ จะเห็นว่า นิวรณ์ 5 จะทำให้ไม่มีตาภายใน [ตาเนื้อภายนอกนั้นมีมาตั้งแต่เกิด นิวรณ์ 5 ไม่มีสามารถจะทำให้ตาเนื้อเสียหายได้ เห็นมีเหล้ากับมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์เท่านั้น ที่ทำให้ตาเนื้อบอดได้]

พอไม่มีตาภายใน ญาณ/รู้ก็มีไม่ได้   ตรงนี้นิวรณสูตรก็แสดงให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้าจะบรรลุนิพพานต้องมีการเห็นจากตาภายใน แล้ว "รู้" จึงจะเกิดขึ้นได้

ผมสงสัยว่า สานุศิษย์ของสายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูป อ่านหนังสือไม่แตกหรือไง ถึงไม่เข้าใจ  หรือจะเข้าใจดี แต่ ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แต่ไปเชื่อพระพม่า ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาพุทธถึงได้บิดเบือนไปได้ขนาดนั้น...