บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สติปัฏฐานเป็นแค่อนุปัสนา

2) พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ 4 ไม่ได้ตรัสรู้สติปัฏฐาน 4

เป็นที่ยอมรับกันทั้งสายมหายาน ทั้งสายหินยาน โดยเฉพาะเถรวาทของของไทยเราว่า  สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะพาพุทธศาสนิกชนไปนิพพานได้ก็คือ อริยสัจ 4 

พระพุทธองค์ พระองค์ท่านตรัสรู้ อริยสัจ 4  แต่สายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูป กลับสอนว่า พิจารณาอิริยาบถใหญ่กับอิริยาบถย่อย  ทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นคำสอนในสติปัฏฐานสูตร ก็พอเพียงที่จะสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้  สมถะกรรมฐานก็ไม่ต้องทำ

มันจะเป็นไปได้ยังไง !!!!!!!   

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมากแห่งว่า  พระองค์บรรลุพระบรมสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยวิชชา 3 

ขอยกตัวอย่างที่แต่สั้นๆ  ในส่วนที่พระพุทธองค์ทรงบรรยายเหตุการณ์ที่พระองค์บรรลุวิชชาสุดท้ายของวิชชาสาม ก่อนที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณว่า

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ

ขออธิบายพระสูตรที่ยกมาเพิ่มเติม ดังนี้

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระสูตรนี้ เป็นพระสูตรที่บรรยายว่า พระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระอรหันต์ในวันเพ็ญเดือน 6 

ก่อนหน้าข้อความที่ยกมานั้น เป็นช่วงบรรยาย 2 วิชชาแรก ของวิชชา 3 คือ พระองค์ระลึกชาติของตนเอง และระลึกชาติของคนอื่นได้ คือ รู้ว่า คนอื่นนั้น จะเกิดเป็นอะไรต่อไปข้างหน้า  ก่อนหน้านี้เกิดเป็นอะไร

พระองค์ได้อธิบายว่า ต่อมาก็พิจารณาวิชชา 3 คือ อาสวักขยญาณ ต่อจากนั้นก็พิจารณาอริสัจ 4 คือข้อความที่ว่า เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ต่อการนั้นมาจึงดับอาสวะ ซึ่งก็คือกิเลสขั้นสูงสุดได้ มี 3 ประเภทคือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ผ่านขั้นตอนนี้ไป จึงเข้าขั้นพระโสดาบรรณ พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

จากพระสูตรที่ยกมานั้น สายยุบหนอพองหนอ กับสายนาม-รูป ต้องอธิบายให้ได้ว่า การปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหันต์ของตน  ทำไมจึงไม่เหมือนของพระพุทธเจ้า 

การพิจารณาอิริยาบถใหญ่กับอิริยาบถย่อย  ทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา จะทำให้สุดยอดของกิเลสคือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ หลุดไปได้อย่างไร

เท่าที่ศึกษามา ไม่มีคำอธิบายอย่างที่ว่านั้น จากเอกสารของทางสายยุบหนอพองหนอ และสายนาม-รูป

3) สติปัฏฐาน 4 เป็นอนุปัสนาไม่ได้เป็นวิปัสสนา

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า วิปัสสนา แปลว่า "เห็นแจ้ง"  ส่วน อนุปัสนา แปลว่า "ตามเห็น" หลักฐานที่ยืนยันว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นอนุปัสนา/ตามเห็นก็คือ คำศัพท์ 4 คำ ดังนี้

1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
4) ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

คำทั้ง 4 คำข้างต้น ประกอบด้วยรากศัพท์ ดังนี้

1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาจาก กาย + อนุ + ปัสสนา + สติ + ปัฏฐาน
2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาจาก เวทนา + อนุ + ปัสสนา + สติ + ปัฏฐาน
3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาจาก จิต + อนุ + ปัสสนา + สติ + ปัฏฐาน
4) ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาจาก ธรรม + อนุ + ปัสสนา + สติ + ปัฏฐาน

ทำให้ดูชัดๆ อีกทีก็ได้ ดังนี้

1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน = [กาย + อนุปัสนา + สติปัฏฐาน]
2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน = [เวทนา + อนุปัสนา + สติปัฏฐาน]
3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน = [จิต + อนุปัสนา + สติปัฏฐาน]
4) ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน = [ธรรม + อนุปัสนา + สติปัฏฐาน]

ความหมายของคำแต่ละคำ มีดังนี้

อนุ = พจนานุกรมฉบับล่าสุดให้ความหมายของคำว่า อนุไว้ว่า คำประกอบหน้าศัพท์บาลีหรือสันสกฤตมีความหมายว่า น้อย เช่น อนุทิศ = ทิศน้อย, ภายหลัง, รุ่นหลัง เช่น อนุชน = ชนรุ่นหลัง, ตาม เช่น อนุวัต = เป็นไปตาม, เนืองๆ เช่น อนุศาสน์  = สอนเนืองๆ คือ พร่ำสอน.
ปัสสนา = เห็น
สติ = สติ
ปัฏฐาน = ที่ตั้ง

ดังนั้น องค์ประกอบของสติปัฏฐาน 4 นั้น  ถ้าแปลกันในถูกต้องแล้ว ควรจะแปลดังนี้

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติอันตามเห็นซึ่งกาย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติอันตามเห็นซึ่งเวทนา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติอันตามเห็นซึ่งจิต
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งสติอันตามเห็นซึ่งธรรม

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สติปัฏฐาน 4 เป็นเพียง อนุปัสนา/ตามเห็น เท่านั้น ยังไม่ได้เป็น วิปัสสนา/เห็นแจ้ง  

สายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูปปฏิบัติธรรมแต่เพียงบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนที่น้อยมากของสติปัฏฐาน 4 เท่านั้น จะเป็นวิปัสสนาไปได้อย่างไร

ด้วยความไม่เชื่อว่า จักษุของศาสนาพุทธมี 5 ประเภท เป็นตาเนื้อเพียง 1 ประเภท ตาอีก 4 ประเภทที่เหลือเป็นตาภายใน  สาวกของสายพองยุบ-นามรูป พยามยามแปลองค์ประกอบหลักของสติปัฏฐาน 4 ไปในทำนองนี้

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม; เรียกสั้น ๆ ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม

แล้วก็ปฏิเสธการเห็น เหลือแค่ "พิจารณา" ก็คือ ใช้ความคิด/สังขารแต่เพียงอย่างเดียว แล้วจะเป็น วิปัสสนา/เห็นแจ้ง ได้อย่างไร เพราะ ญาณทัสสนะนั้น แปลว่า รู้เห็น  คือ พระพุทธเจ้า"เห็น" ด้วยตาภายในแล้วจึง "รู้"

ขอยกตัวอย่าง นิวรณสูตร สังยุตตนกาย มหาวารวรรค ซึ่งสานุศิษย์คนสำคัญของสายยุบหนอพองหนอเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ 5 เหล่านี้ กระทำให้มืด กระทำไม่ให้มีจักษุ กระทำไม่ให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ...

พระสูตรนี้ สานุศิษย์ของสายยุบหนอพองหนอเขียนไว้ในหนังสือของท่านเอง ผู้อ่านก็ลองพิจารณาดูที่ผมเน้นตัวหนาและทำเป็นสีน้ำเงินไว้ จะเห็นว่า นิวรณ์ 5 จะทำให้ไม่มีตาภายใน [ตาเนื้อภายนอกนั้นมีมาตั้งแต่เกิด นิวรณ์ 5 ไม่มีสามารถจะทำให้ตาเนื้อเสียหายได้ เห็นมีเหล้ากับมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์เท่านั้น ที่ทำให้ตาเนื้อบอดได้]

พอไม่มีตาภายใน ญาณ/รู้ก็มีไม่ได้   ตรงนี้นิวรณสูตรก็แสดงให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้าจะบรรลุนิพพานต้องมีการเห็นจากตาภายใน แล้ว "รู้" จึงจะเกิดขึ้นได้

ผมสงสัยว่า สานุศิษย์ของสายยุบหนอพองหนอกับสายนาม-รูป อ่านหนังสือไม่แตกหรือไง ถึงไม่เข้าใจ  หรือจะเข้าใจดี แต่ ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แต่ไปเชื่อพระพม่า ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาพุทธถึงได้บิดเบือนไปได้ขนาดนั้น...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น